
- เข้าใจว่าความตายความเกิดเพราะมีเหตุปัจจัยของมัน เป็นของไม่เที่ยง
- ความตายในส่วนที่เป็นมรรค
- ระลึกถึงความตายแล้วให้จบลงที่กุศลธรรม
- ฟังเรื่องธิดานายช่างทอหูก ธิดาผู้ระลึกถึงความตาย กับบิดาที่ความตายของลูกทำให้ถึงธรรม
ความเข้าใจเรื่องความตาย
“การระลึกถึงความตาย จะมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เป็นธรรมที่หยั่งลงสู่อมตะ เป็นนิพพาน เป็นที่สุดจบได้”
พุทธพจน์
ถ้าเราเข้าใจเรื่องความตายไม่ถูกเราจะทุกข์มาก ถ้าเข้าใจถูก จะออกจากทุกข์ได้ พ้นทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“มะระณัมปิ ทุกขัง แม้ความตายก็เป็นทุกข์”
ในที่นี้ทุกข์ในเรื่องของความตายไม่ใช่ทุกข์ของคนเป็น เป็นความทุกข์ของคนที่ตาย เพราะว่าคนที่ตายจะสูญเสียความสุขที่เคยมีมาในชีวิตทั้งหมด ความตายจึงเป็นทุกข์
กับคำกล่าวที่ว่า “ความตายนี้เที่ยงแท้แน่นอน ใครเกิดมาแล้วต้องตาย” นั่นคือความตายที่อยู่ในส่วนของทุกขอริยสัจ ใช่ ถ้ามีการตายต้องมีการเกิด แต่ความตายนี้เราต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติคือ “ความตายเป็นของไม่เที่ยง…”ชรา มรณัง อนิจจัง”
ถ้ามีเหตุเกิดมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันมาแล้ว มีเหตุแล้ว ผลก็ต้องมี อะไรเป็นเหตุของความแก่และความตาย คำตอบคือการเกิด ถ้ามีการเกิดแล้วความแก่และความตายย่อมมี เพราะมันเป็นการปรุงแต่งเป็นสังขตธรรมมาแบบนี้ มันจึงมีความแน่นอนในความที่มันมีเหตุปรุงแต่งกันมาแล้ว ด้วยการอาศัยการปรุงแต่งนี้ ถ้าเหตุดับ ผลก็ต้องดับ ถ้าการเกิดดับไป การแก่และการตายก็ต้องดับไป พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า
“แม้ความแก่และความตายก็ไม่เที่ยง เป็นของไม่เที่ยง”
ความแก่ความตายที่เป็นส่วนในความทุกข์นั้น คือไม่เที่ยงอยู่แล้ว เพราะว่าทุกข์เป็นของที่ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ถ้าเรามีความเข้าใจในสิ่งที่มีความไม่เที่ยงเป็นทุกข์แล้วทำให้เกิดการพ้นทุกข์ได้ นี่เป็นส่วนที่ 2 ที่ความตายนั้นเป็นมรรค เป็นทางที่ดี
ความตายส่วนที่เป็นมรรค
ความตายส่วนที่เป็นทุกข์เป็นกองทุกข์ อันนี้มีแน่นอนเราเข้าใจ ความตายในส่วนที่เป็นมรรค ที่จะทำให้ถึงการพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“...มรณสติ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เป็นธรรมที่หยั่งลงสู่อมตะ มีความเป็นอมตะ คือนิพพานเป็นที่หวังได้ แล้วพวกเธอเจริญมรณาสติกันอยู่บ้างหรือ และระลึกกันอย่างไร…”
ถ้าระลึกไม่ถูกทุกข์ก็ยิ่งพอกพูน เพราะดันไปเพิ่มส่วนที่เป็นกองทุกข์ แต่ถ้าเราระลึกถึงถูก ทุกข์ยิ่งลดลง ดังที่ตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย (ดูรายละเอียดพระสูตรในส่วนเพิ่มเติม) และในที่นี้ได้ให้ฟังเรื่องธิดาของนายช่างทอหูก ผู้เจริญมรณาสติเป็นเวลาสามปี สุดท้ายได้กราบพระพุทธเจ้าและตอบปัญหาสี่ข้อที่พระพุทธองค์ถามเรื่องความตาย ดังนี้
เธอมาจากไหน...ไม่ทราบพระเจ้าข้า...มาจากไหนแล้วจึงมาเกิดในที่นี้ ย่อมไม่ทราบ
เธอจะไปไหน...ไม่ทราบพระเจ้าข้า...ไปจากโลกนี้แล้วย่อมไม่ทราบว่าจะไปเกิดที่ไหน
ก็เธอไม่ทราบอย่างนั้นรึ...ทราบพระเจ้าข้า..ย่อมทราบภาวะแห่งการตายของตัวเอง
ก็เธอทราบอย่างนั้นรึ...ไม่ทราบพระเจ้าข้า..ย่อมทราบภาวะแห่งการตายของตัวเอง แต่ย่อมไม่ทราบว่าจะตายอย่างไรที่ไหนเมื่อไหร่
เธอบรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระคาถาส่งท้ายว่า
“สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนตาบอด ในโลกนี้น้อยคนจะเห็นแจ้ง น้อยคนจะไปในสวรรค์ เหมือนนกหลุดแล้วจากตาข่ายมีน้อย ฉะนั้น”
เธอได้ตายลงเพราะหูกกระทบ บิดามีความโศก จึงไปกราบพระพุทธเจ้าเพื่อให้พระองค์ระงับความโศก พระพุทธเจ้าตรัสกับเขาว่า
“ท่านอย่าโศกเลย เพราะน้ำตาของท่านอันไหลออกแล้ว ในกาลเป็นที่ตายแห่งธิดาของท่านด้วยอาการอย่างนี้นี่แหละ ในสังสารมีที่สุด ที่ใครๆไม่รู้แล้ว เป็นของยิ่งกว่าน้ำในทะเลมหาสมุทรทั้งสี่…”
บิดาใช้การตายของธิดานี้ทำทางให้พ้นทุกข์ได้ สุดท้ายเป็นพระอรหันต์
พอเหตุกราณ์จริงต้องตายจริง สูญเสียคนที่รักไปจริงๆ จะทำอย่างไร คนที่เจริญมรณสติได้ผลดีจริงๆ จะไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต มีความร้อนใจ จะเร่งปฏิบัติอย่างเต็มที่ และแน่นอนต้องมีการทดสอบ เช่นบิดาของนาง พอเกิดสถานกราณ์จริง เราจะเริ่มเห็นว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไง พระพุทธเจ้าตอนที่เสียสองอัครสาวก ท่านไม่มีความเสียใจเลย
..ทุกข์ตรงไหน จะปลดทุกข์ได้ก็ตรงนั้น เรายึดตรงไหน เราจะวางได้ ก็ต้องตรงนั้น …
ถ้ามันยังไม่เผยตัวออกมา เราจะรู้ได้ไงว่ามันอยู่ตรงไหน เราทุกข์ตรงไหน เมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกข์เผยตัวออกมา เมื่อไหร่ก็ตามที่ความยึดถือมันให้เราเห็นแล้ว ตรงนั้นเราจะทุกข์ ใช่มั้ย ทุกข์แล้ว นั่นแหละคือจุดที่เราจะเห็นตามจริงได้ จุดที่เราจะแหวกม่านโมหะออกมาได้ ตรงนั้นแหละแหวกเลย ตัดเลย ใช้ปัญญาสับลงไป เอาจิตเราจี้จ่อเอาไว้ด้วยปัญญา ด้วยสมาธิ เห็นตามความเป็นจริงในทุกข์นั้นให้ถูก
เครื่องทดสอบมีแน่นอน นั่นแหละคือความทุกข์ นั่นแหละคือความยึดถือ ที่มันอาศัยกันนั่นแหละเกิดอยู่ ความยึดถือไม่เกิดในอะไรนอกจากในขันธ์5 ขันธ์ห้าก็มีความยึดถือนี่แหละทำให้มันเป็นทุกข์ขึ้นมา เราจะปลดสองตัวนี้ได้ มันเปิดเผยตัวออกมาแล้ว ใส่มันเลยด้วยปัญญา…...
พระสูตร / เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- อ่าน "มรณัสสติสูตรที่ ๑" พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
- อ่าน "เรื่องธิดานายช่างหูก [๑๔๓]" อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โลกวรรคที่ ๑๓
- ฟัง "สากัจฉาธรรม-มรณานุสติ เจริญเป็น ก็เบิกบาน" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
- ฟัง "สากัจฉาธรรม-เรื่องของธิดานายช่างทอหูกและนางลูกสุกร" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559
- ฟัง "สากัจฉาธรรม: ความตายก็ไม่เที่ยง 1" ออกอากาศเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2557
- ฟัง "แก้ตายด้วยการไม่เกิด" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561
- ฟัง "ตายไม่ใช่พ้น แต่ดับตายจึงจะพ้น" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
- ฟัง "ธรรมสากัจฉา-ความตายไม่เท่ากับความสงบระงับ" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559
- ฟัง "รู้ตายจึงพ้นตาย" ออกอากาศทาง FM92.5 และ FM106 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2559