ปฏิบัติบูชาสำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์ |
- วิธีและรายละเอียดของการปฏิบัติบูชาสำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์
บทคัดย่อ
การปฏิบัติบูชาสำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์ หมายรวมทั้งนักบวชและฆราวาสที่มีการปฏิบัติที่เข้มข้นมากขึ้น มีอานิสงค์ผลบุญสูงกว่ามาก ทำให้จิตใจสบายในเวลาที่ปฏิบัติ ทำให้เกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ในเวลาต่อๆไป หรือเพื่อมุ่งเน้นซึ่งมรรคผลนิพพาน โดยรูปแบบในการปฏิบัติก็คือ การภาวนา (หรือภาวิตา) ซึ่งเป็นการทำให้เจริญในอริยมรรคมีองค์แปดด้วยการทำสมาธิวิปัสสนา เพื่อเป็นการควบคุมและทำจิตใจให้สงบ ไม่ทำให้ใจเราข้องเกี่ยวหรือเบียดเบียนได้ด้วยอกุศลธรรมต่างๆ
พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนถึงความเพียรชนิดที่เป็นหลัก เป็นประธาน (สามารถพึ่งได้ ใช้เป็นเรื่องราวได้) อยู่ 2 ประเภทคือ
- สำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ต้องใช้ความเพียร ขวนขวายเพื่อให้ได้ปัจจัยทั้งสี่
- สำหรับนักบวชหรือผู้ปฏิบัติธรรม ต้องใช้ความเพียร ขวนขวายเพื่อให้ได้ละซึ่งความยึดถือเสียทั้งหมด ถือเป็นหลักที่สุดยอดมากกว่าความเพียรของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน โดยเริ่มจากการละนิวรณ์ (เครื่องกางกั้นการทำงานของจิตไม่ให้รวมลงเป็นอารมณ์อันเดียว) เสียก่อน อันได้แก่
- กามฉันทะ คือ ความรักใคร่ ความพอใจ ยินดีในกาม คือ ความอยากได้ในกามคุณทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพพะที่น่าปรารถนา
- พยาบาท คือ ความคิดอาฆาต ความคิดปองร้าย คุกรุ่นอยู่ในใจ
- ถีนมิทธะ คือ ความง่วงซึม ความเซ็ง ความขี้เกียจ
- อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ คิดไปในทางกาม พยาบาท เบียดเบียน
- วิจิกิจฉา คือ ความเคลือบแคลง เห็นแย้ง ไม่ลงใจ ลังเลสงสัย เกี่ยวกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
พระพุทธเจ้าทรงเคยตรัสไว้ว่า หากเราระงับนิวรณ์ได้ ถือว่าอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า เป็นผู้มีจิตเสมอกัน ซึ่งคุณธรรมที่เป็นเหตุปัจจัยให้นิวรณ์หลุดลอกออกก็คือ สติ หรือ สติปัฎฐานสี่ อันหมายถึงฐานที่ตั้งให้เกิดการระลึกถึง รู้เห็นและเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง โดยไม่ถูกกิเลสครอบงำ รัดรึงหรือห่อหุ้มได้มี 4 ประการดังนี้
- กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน – การมีสติระลึกรู้กายเป็นฐาน หรือการเห็นกายในกาย
- เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน – การมีสติระลึกรู้เวทนาเป็นฐาน หรือการเห็นเวทนาในเวทนา
- จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน – การมีสติระลึกรู้จิตเป็นฐาน เป็นการนำจิตมาระลึกรู้จิต หรือการเห็นจิตในจิต
- ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน – การมีสติระลึกรู้สภาวะธรรมเป็นฐาน เห็นตามที่เป็นจริง ทั้งรูปธรรมและนามธรรมล้วนมีความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา หรือการเห็นธรรมในธรรม
ซึ่งการทำให้สติปัฎฐานสี่เกิดขึ้นหรือสติตั้งขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องมีที่พึ่งหรือสรณะโดยยึดหลักอนุสสติ 10 คือ อารมณ์อันควรระลึกถึง 10 ประการ
- พุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์
- ธัมมานุสติ ระลึกถึงพระธรรม คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม
- สังฆานุสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์
- สีลานุสติ ระลึกถึงศีล คือ น้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย
- จาคานุสติ ระลึกถึงการบริจาค คือ น้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรมคือความเผื่อแผ่เสียสละนี้ที่มีในตน
- เทวตานุสติ ระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน
- มรณสติ ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท
- กายคตาสติ สติอันไปในกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา
- อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
- อุปสมานุสติ ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือ ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์
สติที่เกิดขึ้นจะเป็นเกราะป้องกันภัยและรักษาจิตของเราได้ สามารถระงับนิวรณ์ลงได้ ทำให้จิตมีอารมณ์รวมลงเป็นอันเดียว ถือว่าเป็นการปฏิบัติบูชาแล้ว อีกทั้งทำให้กิเลสในใจของเราหลุดลอกออกไปได้ เพราะจิตที่สงบลงได้จะไม่ไปเกลือกกลั้วกับสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น โดยต้องอาศัยปัญญาเห็นตามที่เป็นจริง สามารถปล่อยวางได้ ไม่ยึดถือยึดติด เพราะเห็นความไม่เที่ยงของมันไม่ว่าจะเป็นปิติ สุข หรือแม้แต่ในอุเบกขาที่เหลืออยู่ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติบูชาด้วยการนั่งสมาธิเช่นนี้เพื่อให้ถึงความยอด คลายความยึดถือ ทำความเพียรทางจิต (ซึ่งเรียกว่า “วายามะ” หรือ “วิริยะ”) โดยที่กายไม่ขยับเลย ถือเป็นความเพียรที่เป็นหลักเป็นประธานได้
พระสูตร / เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ฟัง "ปฏิบัติบูชาสำหรับผู้ครองเรือน" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560