- การที่เห็นสภาวะกาย จิต อารมณ์ มันแยกๆ ออกจากกันนี้จนไม่เห็นตัวที่เชื่อมต่อกัน เห็นมันเป็นอิสระจากกัน บางครั้งก็จะเห็นอารมณ์แยกไปจากจิต ไม่เห็นจิตมีเจ้าของมีแต่อาการ ต้องการขอคำชี้แนะเพิ่มเติมในการปฏิบัติ
คำถาม 1: การที่เห็นสภาวะกาย จิต อารมณ์ มันแยกๆ ออกจากกันนี้จนไม่เห็นตัวที่เชื่อมต่อกัน เห็นมันเป็นอิสระจากกัน บางครั้งก็จะเห็นอารมณ์แยกไปจากจิต ไม่เห็นจิตมีเจ้าของมีแต่อาการ ต้องการขอคำชี้แนะเพิ่มเติมในการปฏิบัติ
คำตอบ 1: มนุษย์โดยทั่วไป จะมีอาการเจ็บปวดเพราะกายกับจิตเชื่อมโยงกัน กล่าวคือ จิตกระวนกระวาย คิดวุ่นวาย หวั่นไหวไปในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งเลว ประณีต ทั้งดีและไม่ดีเนื่องจากกายมีอาการเจ็บป่วย ซึ่งมีอารมณ์หรือสัญญาเกิดขึ้น เพราะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา ทั้งนี้ก็เพราะจิต กาย และอารมณ์ติดกันยึดแน่นด้วยอำนาจของตัณหา ซึ่งแบ่งเป็น
- กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกาม
- ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความมีความเป็น
- วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น
กระบวนการของการเกิดตัณหามีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- เมื่ออายตนะภายในมากระทบกับอายตนะภายนอกจึงทำให้เกิดผัสสะขึ้น
- จุดที่เกิดผัสสะนั้นจะทำให้เกิดการรับรู้หรือวิญญาณขึ้นมา
- วิญญาณทำให้เกิดสัญญาคือ ความหมายรู้
- เมื่อมีสัญญานี้จึงเกิดเวทนาหรือความรู้สึกขึ้น เช่น สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา
- และเกิดตัณหาคือ ความอยาก
การรับรู้ของคนเราเกิดขึ้นได้ในช่องทางที่มีการกระทบกันระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอกที่ต้องถูกผูกตรงช่องทางและหน้าที่ที่สอดรับกันของมัน เปรียบเสมือนกับหมู่บ้านที่มีโจรมาปล้นอยู่เรื่อย มีวิสัยและที่โคจรต่างกัน โดยมีใจเป็นที่แล่นไปสู่ด้วยการรับรู้หรือวิญญาณ อันประกอบด้วย
- อายตนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
- อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
หลังจากที่อายตนะภายในและอายตนะภายนอกเกิดการกระทบกัน แล้วจิตไปรับรู้เป็นวิญญาณอย่างประจวบเหมาะ จะทำให้เกิดขึ้นมาเป็นผัสสะ ซึ่งหมายถึง สัมผัส การกระทบ การถูกต้องที่ให้เกิดการรับรู้มีทั้งหมด 6 อย่าง คือ
- จักขุวิญญาณ เกิดจากจักขุสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางตา คือ ตาเห็นรูป
- โสตวิญญาณ เกิดจากโสตสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางหู คือ หูได้ยินเสียง
- ฆานวิญญาณ เกิดจากฆานสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางจมูก คือ จมูกดมกลิ่น
- ชิวหาวิญญาณ เกิดจากชิวหาสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางลิ้น คือ ลิ้นรับรส
- กายวิญญาณ เกิดจากกายสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางกาย คือ กายสัมผัสกับโผฏฐัพพะ เช่น ร้อน เย็น อ่อน แข็ง เป็นต้น
- มโนวิญญาณ เกิดจากมโนสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางใจ คือ ใจรับรู้ธรรมารมณ์ หรือสิ่งที่ใจนึกคิด
วิญญาณทั้ง 6 ช่องทาง เปรียบเหมือนดวงไฟที่เหมือนกันแต่เกิดจากเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เราเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกันโดยเกิดจากตัณหาที่เป็นตัวเชื่อมโยงให้ติดกันหมดเลย และมีจิตก้าวลงเพื่อเข้ามายึดกาย ยึดอารมณ์ และยึดสิ่งต่างๆเหล่านี้ด้วยความเป็นตัวตน ทำให้เราหวั่นไหว ขึ้นลง สุขไปตาม ทุกข์ไปตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านั้นอีกด้วย โดยที่มีรากเหง้าจากอวิชชาและอุปาทาน
อีกทั้ง ยังตกเป็นทาสของกิเลสเครื่องเศร้าหมองซึ่งเกิดขึ้นที่จิตของเรา อันประกอบไปด้วย
- ราคะหรือโลภะ เป็นกิเลสกองที่ทำให้เราเกิดความหิว ความอยากได้
- โทสะ เป็นกิเลสกองที่ทำให้เราเกิดความโกรธ เร่าร้อน รุ่มร้อน ขัดเคืองใจ
- โมหะ เป็นกิเลสกองที่ทำให้เราเกิดความมืดบอด มีหมอกหรือควันบดบังทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดเจน จนกลายเป็นความไม่รู้หรือเห็นผิดได้
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนโดยเปรียบเทียบกายกับจิตของเรา ที่ต้องปฏิบัติภาวนาให้แยกกัน ให้พ้นจากกันให้ได้ เหมือนกับมือที่โบกไปในอากาศ หรือพระจันทร์บนท้องฟ้ากับพระจันทร์ที่สะท้อนในผิวน้ำ โดยสามารถสรุปเป็นแนวทางได้ดังนี้
- อินทรีย์มีช่องทางคือใจเป็นที่แล่นไปสู่
- ใจมีสติเป็นที่แล่นไปสู่ เพื่อให้สติรักษาจิต ทำให้ใจไม่หวั่นไหวและไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจความพอใจหรือความไม่พอใจนั้นๆ แต่ก็อาจจะทำให้เศร้าหมองไปบ้างตามอำนาจราคะ โทสะ โมหะ เห็นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เพราะมีกิเลสเกิดขึ้นที่จิตแล้ว
- สติมีวิมุตติ(ความพ้น) เป็นที่แล่นไปสู่ เห็นสภาวะกาย จิต อารมณ์ แยกออกจากกันหรือเป็นอิสระจากกัน เช่น ผู้ที่เข้าไปรับรู้ความคิดกับความคิดเป็นคนละส่วนกัน หรือผู้ที่เข้าไปรับรู้ความเจ็บในกายกับความเจ็บในกายก็เป็นคนละส่วนกัน เป็นต้น
- วิมุตตินำไปสู่นิพพานได้ โดยการฝึกจิตเพิ่มเติม ฝึกตั้งสติ ทำซ้ำๆ ทำย้ำๆ โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ฝึกให้ชำนาญ ให้มีความละเอียดและรอบคอบมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้กิเลสกลับกำเริบ เนื่องด้วยเมื่อจิตมีสมาธิ จิตเป็นอารมณ์อันเดียวอยู่ กิเลสและนิวรณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้ อุปกิเลสจะหายไป แต่รากหรืออวิชชายังอยู่ โดยที่เราไม่เห็นตัวมัน ไม่รับรู้อาการของมัน ดังนั้นต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสมถะ (จิตเป็นอารมณ์อันเดียว)และวิปัสสนา (เห็นตามความเป็นจริง) มองเห็นทุกข์เป็นของไม่เที่ยง มองเห็นความเป็นอนัตตา สามารถปล่อยวางความยึดถือในจิตนั้นว่าเป็นตัวเรา ของเราลงได้ด้วยกำลังของสมาธิ จนเกิดความนิ่งและทำให้กายกับความคิดแยกออกจากกัน จนทำให้ความมีอยู่เป็นอยู่ของจิตดับลงเป็นความดับเย็นที่เรียกว่า ”นิพพาน”
- - - ตอบคำถาม : คุณ Tinn