
ประวัติเรื่องราวของพระภัททากุณฑลเกสีเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้ตรัสรู้เร็วพลัน
- เปลี่ยนจากความโง่มาเป็นฉลาด เพราะรู้ว่าปัญญามิได้สร้างมาเพื่อแกงกิน แต่เพื่อประโยชน์พิจารณาให้เห็นถึงโทษภัยในสิ่งต่าง ๆ ได้
- ผู้หญิงมีปัญญาก็เป็นบัณฑิตได้
- ผู้ใดชนะตนคนเดียวได้ ผู้นั้นแลเป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม
“...ชื่อว่าปัญญา ธรรมดามิได้สร้างมาเพื่อประโยชน์แกงกิน, ที่แท้สร้างมาเพื่อประโยชน์พิจารณา…”
ข้อความนี้เป็นความคิดที่เกิดขึ้นแก่ นางกุณฑลเกสี (อ่านเพิ่มเติมในส่วนพระสูตร/เรื่องที่เกี่ยวข้อง) เป็นบุตรีเศรษฐีที่เป็นสาวใจแตกอยากได้โจรมาเป็นสามี แต่โจรนั้นกลับวางแผนจะฆ่านางเพื่อชิงเอาทรัพย์สมบัติ จึงใช้อุบายหลอกนางไปยังหุบเขาทิ้งโจร แต่ด้วยความที่นางเป็นผู้ฉลาด มีปัญญา จึงพลิกกลับมาฆ่าสามีโจรเพื่อเอาตัวรอด เทวดาที่สถิตอยู่บนยอดเขาทิ้งโจรนั้น เห็นเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงให้สาธุการขึ้นว่า
น โส สพฺเพสุ ฐาเนสุ ปุริโส โหติ ปณฺฑิโต,
อิตฺถีปิ ปณฺฑิตา โหติ ตตฺถ ตตฺถ วิจกฺขณาติ.
“บุรุษนั่น เป็นบัณฑิตในที่ทุกสถาน ก็หาไม่, แม้สตรี ผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ ก็เป็นบัณฑิตได้ ในที่นั้น ๆ.”
หลังจากนั้นได้ขอบวชในสำนักปริพาชกแห่งหนึ่ง และในที่สุดก็ได้มาฟังธรรมจากพระสารีบุตร จึงขอบวชเป็นภิกษุณี และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายเพียงสองถึงวันเท่านั้น
ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันถึงการฟังธรรมของพระกุณฑลเกสีเถรีนั้นไม่มีมาก พระเถรีก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และยังได้ยินมาว่า นางยังทำมหาสงครามกับโจรคนหนึ่งชนะแล้วมา เมื่อพระศาสดาทรงทราบเรื่องจึงได้ตรัสแก่ ภิกษุทั้งหลายว่า “เมื่อบุคคลชนะโจรที่เหลือ หาชื่อว่าชนะไม่, ส่วนบุคคลชนะโจร คือกิเลส อันเป็นไปภายในนั่นแหละ จึงชื่อว่าชนะ" และได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
“โย จ คาถาสตํ ภาเส อนตฺถปทสญฺหิตา
เอกํ ธมฺมปทํ เสยฺโย ยํ สุตฺวา อุปสมฺมติ.
โย สหสฺสํ สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส ชิเน
เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ ส เว สงฺคามชุตฺตโม.”
ก็ผู้ใดพึงกล่าวคาถาตั้งร้อย ซึ่งไม่ประกอบด้วยบทเป็นประโยชน์, บทแห่งธรรมบทเดียวที่บุคคลฟังแล้วสงบระงับได้ ประเสริฐกว่าการกล่าวคาถาตั้ง 100 ของผู้นั้น. ผู้ใดพึงชนะมนุษย์พันหนึ่งคูณด้วยพันหนึ่งคือ 1 ล้านในสงคราม ผู้นั้นหาชื่อว่าเป็นยอดแห่งชนผู้ชนะในสงครามไม่, ส่วนผู้ใดชนะตนคนเดียวได้, ผู้นั้นแล เป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม.
“...เหตุการณ์ของผู้หญิงคนหนึ่งที่เมื่อก่อนเคยโง่มาก่อน เปลี่ยนจากความโง่ เอาปัญญามา ฉลาดขึ้นได้ เพราะรู้ว่าปัญญา ธรรมดาไม่ใช่สร้างมาเพื่อประโยชน์ในการแกงกิน คนที่กล่าวคำพูดนี้เป็นคนที่ฉลาดมาก แต่ก่อนที่เธอจะมาฉลาดได้ ก็ไม่ฉลาดมาก่อน เป็นสาวใจแตกมาก่อน มีความโลเลในบุรุษ และมาเปลี่ยนตัวองได้...เพราะรู้ความที่ปัญญานั้นสร้างมาเพื่อประโยชน์ในการพิจารณา.
...ปัญญาเกิดขึ้น เพราะว่าเห็นทุกข์ เห็นทุกข์โทษภัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพื่อความเอาตัวรอด ปัญญาจึงเกิดขึ้น ทำให้พิจารณาเห็นภัย เห็นโทษ, การเห็นภัย เห็นโทษ นั่นแหละ คือ ปัญญาเกิดขึ้นทันที...พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ”การที่เราเห็นทุกขสัญญา การพิจารณาให้เห็นความทุกข์ ให้พิจารณาให้เห็นถึงความเป็นของน่าเกลียด (อสุภสัญญา) พิจารณาถึงความตาย (มรณสัญญา) ความเป็นของไม่น่ายินดี ความเป็นของปฏิกูลในอาหารพวกนี้ คือ โทษภัยของสิ่งต่าง ๆ ที่เราจะเห็น พิจารณาให้เกิด แล้วปัญญาก็จะว๊าบขึ้น ๆ เป็นแสงสว่างส่องให้เราเห็นความจริง พอปัญญาเกิดขึ้นก็อบรมสมาธิให้ดีขึ้นได้ เพราะวางมีปัญญาแล้ว มันจะค่อย ๆ วางความไม่จริง ให้เห็นความจริง จิตใจจะเริ่มสงบลง ๆ ระงับลง ๆ ได้ ความที่จิตใจสงบลงได้นั่นคือ สมาธิ สมาธิที่เกิดขึ้นก็ยิ่งหนุนปัญญา สามารถที่จะใช้ ไม่ใช่เฉพาะในด้านการพิจารณากายอสุภะ ยังสามารถนำปัญญานี้ ด้วยสมาธิที่มีขยายผลไปใช้ในด้านต่าง ๆ ของชีวิตของเราได้
ดังตัวอย่างนางกุณฑลเกสี พอนางเกิดปัญญาโดยมีเหตุคือมรณภัยแล้ว เอาปัญญามาพิจารณาว่า อยู่ครองเรือนแล้วทุกข์มาก ออกบวชดีกว่า บวชแล้วมีปัญญาสามารถศึกษาหาความรู้ ไปเจอพระสารีบุตรี เกิดปัญญาในการเรียนรู้ที่จะเรียนรู้จากท่าน มีปัญญาไม่นาน นางก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ พระพุทธเจ้าจึงยกย่องนางว่า ไม่ใช่แค่เอาชนะศัตรูคือโจรผู้เป็นสามีได้ ถึงแม้จะเป็นผู้ชนะสงคราม ที่แต่ละสงครามจะมีศัตรูพันคน ๆ เอาชนะมาเป็นพัน ๆ สงครามแล้ว ชัยชนะเหล่านั้นเป็นเพียงชัยชนะภานนอก แต่ถ้าผู้ใดสามารถเอาชนะกิเลสที่อยู่ภายในใจได้ นี่ชื่อว่า เป็นผู้ที่ชนะอย่างแท้จริงประกาศ “ชิตังเม” ไปเลย ในความที่เราเอาชนะความอยากได้ ความโลภได้ เอาชนะความหลงได้ เอาชนะกามได้ เอาชนะพยาบาทได้ เอาชนะความเบียดเบียนได้ เราจะเอาชนะ ราคะ โทสะ โมหะ กามเหล่านี้ได้ ต้องใช้อาวุธที่มีคม คมนั่นคือปัญญา...ปัญญาที่คม ๆ เอามาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงในสิ่งต่าง ๆ เพื่อจะละความยึดถือ จะละจะตัดได้ ปัญญาจึงต้องคม จึงต้องมีกำลังเอาอวิชชาออกไปได้ เป็นชัยชนะที่บุคคลชนะได้ยาก เป็นชัยชนะที่เมื่อชนะแล้วจะไม่กลับแพ้ได้อีก พระพุทธเจ้าเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า “เป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม”
พระสูตร / เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- อ่าน "เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี [๘๓]" อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘
- อ่าน "ประวัติพระภัททากุณฑลเกสาเถรี"
- ฟัง "เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี" ออกอากาศทาง FM106 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
- ฟัง "เรื่อง สาวใจแตกสุดท้ายบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559
- ฟัง "คำพุทธ-โยธาชีวสูตร นักรบอาชีพ 5 จำพวก" ออกอากาศทาง FM106 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558
- ฟัง "นักรบผู้แพ้สงคราม" ออกอากาศทาง FM106 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558
- ฟัง "วิธีทำจิตให้หลุดพ้น" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560