กิจที่ควรทำในอริยสัจสี่ (ตอนที่ 3) : ตัณหาเป็นสิ่งที่ควรละ |
HIGHLIGHTS:
- แนวคิดประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับการวางจิตในอริยสัจสี่ได้อย่างถูกต้อง
- การทำความเข้าใจในอริยสัจสี่ที่ถูกต้อง
บทคัดย่อ
แนวคิดประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับการวางจิตในอริยสัจสี่ได้อย่างถูกต้อง สามารถจำแนกได้ดังนี้
- ต้องปล่อยวางด้วยปัญญาไม่ใช่โมหะ ต้องเกิดจากการวางตัณหา แต่ไม่ใช่วางเฉยโดยทำให้เกิดวิภวตัณหาขึ้นแทน ซึ่งการทำให้เกิดปัญญาที่คมและเฉียบแหลมขึ้นเป็นลำดับ โดยเริ่มจากการรักษาศีล ความไม่ร้อนใจ มีปิติ มีสมาธิ เห็นตามความเป็นจริง และสามารถปล่อยวางได้ในที่สุด
- เก็บกดไม่ใช่อดทน (ขันติ) เพียรแต่ไม่อยาก ดังนั้นต้องละความโกรธที่เป็นตัณหาพอกอยู่
- ความไม่เที่ยงปรากฏอยู่ในทุกๆสิ่งเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเวลาแตกทำลาย เพราะอาจจะช้าไปสำหรับกิจหรือความเพียรที่ควรกระทำ ต้องฝึกปฏิบัติให้ตั้งสัญญาหรือความหมายรู้โดยความเป็นของที่เป็นทุกข์ ที่เรียกว่า “นิโรธสัญญา” ซึ่งหมายถึง ให้หมายรู้ถึงความดับไปของสิ่งต่างๆ เพราะอาศัยเหตุที่ดับไป สัญญาก็จะดับไปด้วยเช่นกัน
การทำความเข้าใจในอริยสัจสี่ที่ถูกต้อง
- ต้องเกิดจากปัญญาที่แท้จริง และเกิดจากการพัฒนาเปลี่ยนความจำ (สัญญา) จนกลายเป็นความรู้ภายในจิต (ญาณ) โดยมีสมาธิและตั้งสติจดจ่อ จะทำให้สัญญาเปลี่ยนเป็นญาณหรือความรู้ที่ถูกต้องของเราได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาองค์ความรู้ในอริยสัจสี่แต่ละรอบ จะทำให้เราเดินมาสู่ทางสายกลางได้
- ต้องเข้าใจความจริงหรือสัจจะนั้นให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นความจริงของอริยสัจ 4 ทั้ง 3 รอบ เพราะทุกข์กินความหมายกว้างรวมไปถึงทั้งทุกขเวทนาและสุขเวทนาด้วย หากเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็จะทำให้ความจริงนั้นเป็นของปลอม ของหลอกลวงทันที
ดังนั้นทุกข์เป็นสิ่งที่ควรรอบรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำให้เจริญ ไม่ควรแสวงหาเอา สามารถรับรู้ได้ทั้งทางตาทางหู อีกทั้งยังมาปะปนกับอริยมรรคมีองค์แปดอีกด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นสติ สมาธิเองก็ดี ก็มีความไม่เที่ยงเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนเราก็ไม่เคยมีสติหรือสมาธิเลย แต่ปัจจุบันก็สามารถทำให้มีได้ หรือเมื่อวานปฏิบัติธรรมจนเกิดสมาธิได้ แต่วันนี้ทำไม่ได้เสียแล้ว เป็นต้น เพราะฉะนั้นต้องปรับความคิดใหม่คือ ต้องปฏิบัติธรรมด้วยความเพียรให้เกิดสมาธิขึ้นมา แต่ต้องไม่ปรารถความเพียรมากเกินไปจนกลายเป็นความกระสันอยาก หรือย่อหย่อนวางเฉยจนจิตน้อมไปในทางกาม จิตคล้อยไปในความเพลิดเพลินลุ่มหลง ท้อแท้ท้อถอย
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สัตว์โลกทั้งหมดถูกกระแสของตัณหาพัดพาไป นำไป ด้วยเรื่องของยศตำแหน่ง ชื่อเสียง เงินทอง ทรัพย์สมบัติต่างๆ ดังนั้นเราจึงควรเดินตามเส้นทางที่ท่านทรงประกาศไว้ “ไม่เป็นไปด้วยความทุกข์โทมนัส แต่เป็นไปเพื่อความสุขโสมนัส ณ ปัจจุบันทีเดียว” คือ เข้าใจในกิจที่ควรทำในอริยสัจสี่ได้อย่างถูกต้อง พร้อมกับการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปดด้วย
พระสูตร / เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ชม "กิจที่ควรทำในอริยสัจสี่ (ตอนที่ 2) : ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้" ออกอากาศทาง Facebook “Puredhamma.com” เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2561
- ชม "กิจที่ควรทำในอริยสัจสี่ (ตอนที่ 1)" ออกอากาศทาง Facebook “Puredhamma.com” เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2561