ขันธ์ห้าแทรกซึมในทุกสิ่ง |
HIGHLIGHTS:
- พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เกี่ยวกับ “สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา” ว่าอย่างไร
- พระพุทธเจ้าทรงอธิบายใน "ปรุงแต่งสังขาร ให้สำเร็จรูปโดยความเป็นสังขาร นี่คือสังขาร" ว่ามีการปรุงแต่งอย่างไร
- เป็นไปได้หรือไม่ที่จะหลุดพ้น หากปฏิบัติเพียงหมวดใดหมวดหนึ่งในสติปัฏฐาน 4
- อานาปานสติ กับ อานาปานสติสมาธิ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
บทคัดย่อ
คำถาม 1: ได้ยินครูบาอาจารย์ใน Youtube พูดกันบ่อยๆ คำว่า “สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา” อันนี้ตรงกับคำบาลีว่าอะไร และพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้หรือไม่
คำตอบ 1: “สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา” หมายถึง การที่อุปาทานเมื่อรวมกับขันธ์ห้ามีความรู้สึกเป็นตัวเราของเราเกิดขึ้น จึงกลายเป็นตัวทุกข์ หรือ “สักกายะ” นั่นเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในอนัตตลักขณสูตร มีรายละเอียดเกี่ยวกับหัวข้อ “ทุกข์” โดยทุกข์คือ สิ่งที่ทนอยู่ได้ยาก เพราะอาศัยเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น มีความไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
คำถาม 2: ตอนที่พระพุทธเจ้าอธิบายเรื่องขันธ์ 5 ตรง "ปรุงแต่งสังขาร ให้สำเร็จรูปโดยความเป็นสังขาร นี่คือสังขาร" ตรงนี้มันปรุงแต่งอย่างไร
คำตอบ 2: พระพุทธจ้าทรงบัญญัติเกี่ยวกับ “สังขาร” คือ กิริยาที่ปรุงแต่งได้มีอยู่ในสิ่งใด ดังนั้นสิ่งนั้นเรียกว่า “สังขาร” เช่น
- ปรุงแต่งรูปให้สำเร็จได้ด้วยความเป็นรูป
- ปรุงแต่งเวทนาให้สำเร็จได้ด้วยความเป็นเวทนา
- ปรุงแต่งสัญญาให้สำเร็จได้ด้วยความเป็นสัญญา
- ปรุงแต่งสังขารให้สำเร็จได้ด้วยความเป็นสังขาร
- ปรุงแต่งวิญญาณให้สำเร็จได้ด้วยความเป็นวิญญาณ
จะเห็นได้ว่าขันธ์ห้ากองรวมกันไปหมด จึงทำให้สังขารแทรกซึมอยู่ในทุกอย่าง เพราะฉะนั้นการเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กายทุกข์ใจ ความคับแค้นใจทั้งหลายเป็นทุกข์ ก็จะมีขันธ์ห้าในทุกข์เหล่านั้นด้วยทั้งหมด
คำถาม 3: เรื่องสติปัฏฐาน 4 ถ้าทำแค่หมวดเดียวแล้วหลุดพ้น อันนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ ผู้ถามเข้าใจว่าถ้าปฏิบัติหมวดกายอย่างเดียว ก็น่าจะเข้าใจเรื่องกายได้อย่างเดียว ไม่น่าจะเข้าใจเรื่องเวทนา จิต ธรรมได้ แต่ยังจะมีความเห็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตัวตนอยู่ดี
คำตอบ 3: ธรรมะของพระพุทธเจ้าสอดคล้องลงรับกัน ไม่ขัดกัน ถึงแม้จะปฏิบัติด้านใดด้านหนึ่งจนเกิดความชำนาญแล้ว ก็จะสามารถปฏิบัติในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกันและต่อเนื่องต่อไปได้ด้วย
ผู้ที่ทำความชำนาญเรื่องกาย จะมองเห็นเวทนาเกิดขึ้น และสามารถเห็นเวทนาในเวทนาได้ด้วย เมื่อปฏิบัติมากขึ้นก็จะสามารถมองเห็นจิตในจิต และธรรมในธรรมได้ในที่สุด โดยสามารถอธิบายรายละเอียดเป็นลำดับขั้นตอนได้ดังนี้
- เมื่อเราตั้งสติขึ้น พิจารณากายโดยการดูลมหายใจ จะทำให้กายระงับลงจากการสังเกตลมหายใจที่เบาลงหรือการเคลื่อนไหวทางกายลดน้อยลง จิตระงับลง จนกระทั่งเห็นกายในกาย
- ด้วยการสังเกตจากความคิดนึกปรุงแต่งที่ระงับลง ผัสสะระงับจึงทำให้เห็นเวทนา จนกระทั่งเห็นเวทนาในเวทนา
- เมื่อจิตมีอารมณ์อันเดียว ทำให้จิตเป็นสมาธิ จนกระทั่งเห็นจิตในจิต
- เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วแต่มีผัสสะอื่นๆมากระทบ จะทำให้เรามองเห็นตามความเป็นจริง มีความไม่เที่ยง เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย จนกระทั่งเห็นธรรมในธรรม
คำถาม 4: อานาปานสติ กับ อานาปานสติสมาธิ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
คำตอบ 4: อานาปานสติ กับ อานาปานสติสมาธิ มีความหมายเหมือนกัน โดยสามารถอธิบายความหมายตามส่วนประกอบของคำศัพท์ได้ ดังนี้
- อานา-ปานะ หมายถึง ลมหายใจเข้าออก
- สติ หมายถึง การระลึกได้
- สมาธิ หมายถึง ความที่จิตมีอารมณ์อันเดียว
- ดังนั้น อานาปานสติสมาธิ จึงหมายถึง สมาธิที่เกิดขึ้นจากการตั้งสติโดยใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือ ซึ่งเครื่องมือนั้นๆ เราสามารถเลือกใช้จากข้อใดข้อหนึ่งในอนุสสติสิบได้
“บุคคลเมื่อมีสัมมาสติแล้วจะสามารถทำสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้นได้ นั่นเป็นฐานะที่เป็นไปได้”
คำถาม 5: ถ้าพระอาจารย์มีเวลา อยากจะรบกวนพระอาจารย์อธิบายเรื่องสติปัฏฐาน 4 อย่างละเอียด โดยจัดทำเป็นหมวดหรือแบบซีรีย์ เนื่องด้วยผู้ถามยังไม่เข้าใจในบางหมวด เช่น หมวดกายที่ว่าด้วยเรื่องของธาตุ คือมองอย่างไรก็ไม่เห็น เรื่องของป่าช้า 9 หมวด คือมันเหมือนการคิดเอา จินตนาการเอา จึงไม่ค่อยเข้าใจ หรือผู้ถามอาจจะตีความหมายผิดก็เป็นไปได้
คำตอบ 5: พระอาจารย์มหาไพบูลย์ได้วางแผนไว้แล้วที่จะอ่านเรื่อง “มหาสติปัฏฐานสูตร” ในมัชฌิมนิกาย โดยการจัดทำเป็นแบบซีรีย์ มีการอ่านพระสูตรในวันพฤหัสบดีและการอธิบายรายละเอียดของพระสูตรในวันศุกร์
สติ หมายถึง การระลึกถึงสิ่งที่ทำ จำคำที่พูดแม้นานได้ ในที่นี้ต้องเน้นย้ำไปที่สัมมาสติหรือเป็นไปตามมรรค เพราะการคิดนึกต่างๆจะเกิดอยู่ภายในกาย เวทนา จิตและธรรม ดังนั้นสติจึงเป็นแม่บทของสติปัฏฐาน 4 (กาย เวทนา จิตและธรรม) นั่นเอง ซึ่งในแต่ละข้อแต่ละจุดจะมีความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมต่อกันได้เช่นกัน
- - - ตอบคำถาม : คุณนิชาพัส คิดดี