กรรม |
HIGHLIGHTS:
- ความหมายของคำว่า “กรรม”
- ผลกรรมมีจริงหรือไม่
- เราสามารถล้างกรรมได้หรือไม่ อย่างไร
บทคัดย่อ
กรรม หมายถึง เจตนาหรือผลของการกระทำ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับดังนี้
- กรรมทางใจ คือ ผลของการกระทำที่เกิดจากการคิดนึกในใจ
- กรรมทางวาจา คือ ผลของการกระทำที่เกิดจากการพูด
- กรรมทางกาย คือ ผลของการกระทำที่เกิดจากการเคลื่อนไหวทางร่างกาย เช่น การให้ทาน ช่วยเหลือผู้อื่น ทำร้ายร่างกาย หรือลักทรัพย์ เป็นต้น
หากจำแนกประเภทความเชื่อทิฐิความเห็นที่ไม่ถูกต้องในเรื่องของกรรม โดยเริ่มจากระดับที่แย่มากที่สุด สามารถจัดแบ่งได้ดังนี้
- ทิฐิที่ปฏิเสธเรื่องของบาปและกรรม ทุกสิ่งเกิดขึ้นโดยความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัย ไม่มีบุญ ไม่มีบาป
- ทิฐิที่ยังมีส่วนถูกอยู่บ้าง สุขทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนเองในปัจจุบัน หรือทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ด้วยกรรมเก่า เกิดจากดวงไม่ดี ทำให้จิตน้อมไปหาความทุกข์มาทับถมตนเองที่ไม่มีความทุกข์ทับถม หรือเพลิดเพลินไปกับความสุขโดยธรรมที่ได้รับเพราะชดใช้บาปหมดสิ้นแล้ว ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะ
- มีทิฐิน้อมไปในส่วนเบื้องปลาย คือ อดีต ที่เราไม่สามารถแก้ไขได้อีกแล้ว
- ไม่สามารถหาประโยชน์ใดๆได้ในชีวิต ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำและไม่ละในสิ่งที่ควรละในปัจจุบันนี้ เพราะปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อที่ถูกต้องในเรื่องกรรม สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
- บุคคลทำกรรมอย่างใด ๆ จะต้องได้รับผลของกรรมหรือวิบากกรรมอย่างนั้น ๆ
- ระดับวิธีการที่ให้ผลของกรรมจะต่างกันออกไปตามวาระ คือ เดี๋ยวนั้น เวลาต่อมา และในเวลาต่อ ๆ มา
- กรรมจะส่งผลมากหรือน้อย ขึ้นกับเหตุปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง
การทำความดีเป็นเรื่องยาก ดังนั้นขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง มั่นใจ และต้องอดทนในการทำความดีตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด ทำในสิ่งที่ควรทำ (การกระทำในทางที่ดีทางกาย วาจา และใจ) เว้นในสิ่งที่ควรเว้น (การกระทำในทางที่ไม่ดีทางกาย วาจา และใจ) ซึ่งเป็นการทำความเพียรที่ไม่สูญเปล่า
พระสูตร / เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- อ่าน "เกสกัมพลสูตร" พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
- ฟัง "พ้นจากกรรม" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561