ภูมิภาคอันสม่ำเสมอน่ารื่นรมย์ |
HIGHLIGHTS:
- “นิพพาน” เกี่ยวข้องกับ “ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์” อย่างไร
- คนทำงานด้านสินเชื่อที่เริ่มจากการอนุมัติสินเชื่อ ตามหนี้ วางแผนการเงินเพื่อการผ่อนชำระ หรือสุดท้ายต้องส่งฟ้องบังคับคดี ถือว่าอาชีพนี้เป็นการบีบบังคับผู้อื่นและเป็นบาปหรือไม่
บทคัดย่อ
คำถาม 1: อยากรบกวนถามว่านิพพานเกี่ยวข้องกับภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์อย่างไร
คำตอบ 1: อ้างอิงจากพุทธพจน์ชื่อ “ติสสสูตร” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 17 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 9 สังยุตตนิกาย โดยมีเนื้อความอุปมาอุปไมยเกี่ยวกับ “บุรุษผู้ไม่ฉลาดในเรื่องทาง” และ “บุรุษผู้ฉลาดในเรื่องทาง” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- คำว่า “บุรุษผู้ไม่ฉลาดในเรื่องทาง” นั่นเป็นคำหมายถึง ปุถุชน
- คำว่า “บุรุษผู้ฉลาดในเรื่องทาง” นั่นเป็นคำหมายถึง ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ
- คำว่า “ทาง 2 แพร่ง” นั่นเป็นคำหมายถึง วิจิกิจฉา ซึ่งประกอบด้วย
- คำว่า “ทางซ้าย” นั่นเป็นคำหมายถึง มิจฉามรรค อันประกอบด้วย
- มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด)
- มิจฉาสังกัปปะ (ความดำริผิด)
- มิจฉาวาจา (การพูดจาผิด)
- มิจฉากัมมันตะ (การทำการงานผิด)
- มิจฉาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตผิด)
- มิจฉาวายามะ (ความพากเพียรผิด)
- มิจฉาสติ (ความระลึกผิด)
- มิจฉาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นผิด)
- คำว่า “ทางขวา” นั่นเป็นคำหมายถึง อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์แปด) กล่าวคือ
- สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)
- สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ)
- สัมมาวาจา (การพูดจาชอบ)
- สัมมากัมมันตะ (การทำงานชอบ)
- สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ)
- สัมมาวายามะ (ความพากเพียรชอบ)
- สัมมาสติ (ความระลึกชอบ)
- สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ)
- คำว่า “ทางซ้าย” นั่นเป็นคำหมายถึง มิจฉามรรค อันประกอบด้วย
- คำว่า “ราวป่าหนาทึบ” นั่นเป็นคำหมายถึง อวิชชา
- คำว่า “ลุ่มน้ำใหญ่มีเปียกตม” นั่นเป็นคำหมายถึง กามทั้งหลาย
- คำว่า “เหวโกรกชัน” นั่นเป็นคำหมายถึง ความโกรธ คับแค้น
- คำว่า “ภูมิภาคอันสม่ำเสมอน่ารื่นรมย์” นั่นเป็นคำหมายถึง พระนิพพาน
---- ตอบคำถาม : คุณสงสัย
คำถาม 2: ผู้ถามทำงานด้านสินเชื่อเป็นผู้จัดการฝ่าย ซึ่งมีหน้าที่คือการอนุมัติสินเชื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกอ้อย ปัญหาคือ พอถึงช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวถ้าลูกหนี้ไม่นำผลผลิตมาส่งก็ต้องตาม จะมีทีมงานที่เป็นลูกน้องไปตาม ถ้าไม่ได้ผู้ถามต้องลงไปช่วยตามหนี้ด้วย บางครั้งก็ไปเจอบางคนมีเจตนาไม่จ่าย หนีหนี้ บางคนก็ลำบากไม่มีเงิน ผู้ถามจึงต้องใช้หลักการเจรจา บางครั้งต้องวางแผนการเงินให้ผ่อนชำระ หรือสุดท้ายต้องส่งฟ้องบังคับคดี ทำให้รู้สึกว่าอาชีพของตนเป็นการบีบบังคับคนอื่นหรือไม่ และเป็นบาปหรือไม่
คำตอบ 2: พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเกี่ยวกับการค้าขายหรืออาชีพที่ต้องหลีกเลี่ยง (อกรณียกิจ) ทั้งหมด 5 ประเภทคือ
- การค้าขายยาพิษ
- การค้าขายอาวุธ
- การค้าขายเนื้อสัตว์
- การค้าขายสัตว์เป็น
- การค้าขายสุรา
นอกเหนือจากอาชีพทั้ง 5 ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพใดก็ตาม การเลี้ยงชีพใดๆ จะต้องไม่ประกอบด้วยมิจฉาอาชีวะ ซึ่งประกอบไปด้วยการพูดโกหกหลอกลวง การล่อลาภด้วยลาภ หรือการพูดท้าให้เจ็บใจจนต้องยอมตกลง เป็นต้น
หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าอาชีพที่ให้สินเชื่อไม่ได้เข้าข่ายในอาชีพที่ต้องหลีกเลี่ยงทั้ง 5 (อกรณียกิจ) และยังถือว่าเป็นกัลยาณมิตรหรือผู้ให้โอกาสคนทำมาหากินได้มีทางขยับขยายในการประกอบอาชีพหรือพลิกผันชีวิตให้ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามในทางคำสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว บุคคลที่เป็นหนี้สินหรือมีสินทรัพย์รั่วไหล ลดลงเรื่อยๆ อาจจะมีสาเหตุมาจากอบายมุข 6 ซึ่งก็คือ วิถีชีวิต 6 อย่างแห่งความโลภ และความหลงที่ทำให้เกิดความเสื่อม ความฉิบหายของชีวิต อันประกอบด้วย
- ดื่มน้ำเมา คือ พฤติกรรมชอบดื่มสุราเป็นนิจ
- เที่ยวกลางคืน คือ พฤติกรรมชอบเที่ยวกลางคืนเป็นนิจ
- เที่ยวดูการละเล่น คือ พฤติกรรมชอบเที่ยวดูการแสดงหรือการละเล่นเป็นนิจ
- เล่นการพนัน คือ พฤติกรรมชอบเล่นการพนันเป็นนิจ
- คบคนชั่วเป็นมิตร คือ พฤติกรรมชอบคบหาคนพาลเป็นนิจ
- เกียจคร้านการงาน คือ พฤติกรรมชอบเกียจคร้านในการงานเป็นนิจ
พระพุทธเจ้าทรงเคยตรัสอุปมาอุปไมยไว้ใน “อิณสูตร” ว่าด้วยความเป็นหนี้ ดังนี้
- ความยากจนเป็นความทุกข์ของคนผู้บริโภคกาม (ผู้อยู่ครองเรือนหรือคฤหัสถ์)
- คนจนย่อมกู้หนี้ การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์
- คนจนครั้นกู้หนี้แล้ว ย่อมใช้ดอกเบี้ย การใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์
- คนจนครั้นใช้ดอกเบี้ยแล้ว ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลาก็ถูกตามทวง การตามทวงก็เป็นทุกข์
- คนจนเมื่อถูกเจ้าหนี้ทวง ถ้าไม่ให้ย่อมถูกติดตาม การถูกติดตามก็เป็นทุกข์
- คนจนถูกเจ้าหนี้ติดตามทัน ถ้าไม่ให้ย่อมถูกจองจำ การถูกจองจำก็เป็นทุกข์
เมื่อเราอยู่ในระบบของกาม ถูกกามเคี้ยวกินอยู่ ย่อมมีการเบียดเบียน กระทบกระทั่งกัน ซึ่งต้องได้รับบาปหรือแบ่งส่วนบาปมาด้วยอย่างแน่นอน แต่เราสามารถแก้ไขได้เพื่อลดการเบียดเบียนซึ่งกันและกันลง โดยการรักษาศีลของเราให้ได้ นำธรรมะมาสอดแทรกในทุกๆการกระทำของเรา ตั้งอยู่ในความดีตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด และสามารถสร้างกุศลธรรมให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
---- ตอบคำถาม : คุณ Chayanis Nis Noy
พระสูตร / เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- อ่าน "ติสสสูตร ว่าด้วยปัจจัยให้เกิดและไม่ให้เกิดโสกะ" พระไตรปิฎก เล่มที่ 17 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 9 สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
- อ่าน "อิณสูตร" พระไตรปิฎก เล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต