การเบียดเบียนตนเอง |
HIGHLIGHTS:
- อุบาสกสามารถติเตียนพระ(นักบวช) ในศาสนาได้หรือไม่ อย่างไร หากพบว่าพระบางรูปกระทำผิดร้ายแรงถึงขาดความเป็นพระหรือทำไม่ถูกพระวินัย
- หากเจ็บป่วยแต่ไม่ยอมไปพบหมอเพื่อตรวจ จะเป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นหรือไม่
บทคัดย่อ
คำถาม 1: วันหนึ่งผู้ถามไปรู้มาว่า พระ(นักบวช) ในศาสนา ได้กระทำผิดร้ายแรงถึงขาดความเป็นพระ ดังนั้นผู้ถามซึ่งอยู่ในฐานะอุบาสกสามารถติเตียนท่านได้หรือไม่ หรือบางท่านที่ทำไม่ถูกวินัย ผู้ถามก็สามารถติเตียนท่านได้หรือไม่ เพราะเหตุไร
คำตอบ 1: จากคำถามสามารถแยกออกเป็นประเด็นหลักได้ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนา จะมีศีลที่ทำให้ขาดจากความเป็นพระได้ (ปาราชิก) มี 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่
- เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉาน (ร่วมสัมพันธ์ทางเพศกับมนุษย์ หรืออมนุษย์ หรือสัตว์ แม้แต่ซากศพก็ไม่ละเว้น)
- ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย)
- พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) แสวงหาและใช้เครื่องมือกระทำเอง หรือจ้างวานฆ่าคน หรือพูดพรรณนาคุณแห่งความตายให้คนนั้น ๆ ยินดีที่จะตาย(โดยมีเจตนาหวังให้ตาย) รวมถึงการแท้งเด็กในครรภ์
- กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่จริง อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถหรือคุณวิเศษของตัวเอง
ประเด็นที่สอง เราต้องแยกแยะคำว่า “พระภิกษุ” และคำว่า “สงฆ์” ออกจากกันเสียก่อน เพราะคำว่า “สงฆ์” หมายถึง ความเป็นหมู่หรือการที่ไม่สามารถจะอยู่คนเดียวได้ เป็นองค์กรที่มีรูปแบบ การประพฤติและการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามศีลเป็นเบื้องต้น ดังนั้นเราไม่ควรดูหมิ่น ลบหลู่ หรือติเตียนหมู่สงฆ์แบบเหมารวมเพราะจะทำให้สรณะเราเศร้าหมอง แต่หากพบว่าพระภิกษุรูปใดที่ประพฤติผิดในพระวินัย หมู่ (ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ก็ควรจะช่วยกันรักษาชื่อเสียง สอดส่องดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้การกระทำที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น และกำจัดคนที่ปฏิบัติไม่ดีออกไป
ประเด็นที่สาม การกระทำที่ถูกต้องกล่าวรวมถึง ต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนที่กำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดอธิกรณ์ (เรื่องราว) ขึ้น เช่น การบิณฑบาต มีข้ออาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องปลง หรือการรับรู้มาว่ามีพระประพฤติผิดในพระวินัย เป็นต้น ซึ่งการระงับอธิกรณ์ต้องอาศัยหมู่ ประกอบด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้อง เรียกมาประชุมพร้อมกัน (สัมมุขาวินัย)เพื่อทำความเข้าใจให้เกิดขึ้น โดยพระพุทธเจ้าทรงตรัสถึง “อธิกรณสมถะ” ซึ่งหมายความว่าธรรมเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ หรือวิธีการดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นให้สำเร็จลงอย่างเรียบร้อยด้วยดีมี 7 ประการดังนี้คือ
- สัมมุขาวินัย ตัดสินในที่พร้อมหน้าทั้ง โจทย์และจำเลยพร้อมพยาน ตามพยานหลักฐาน
- สติวินัย ถือสติเป็นหลัก การยกเลิกความผิดเพราะเป็นพระอรหันต์หรืออริยบุคคลที่จะไม่ทำผิดวินัยในข้อนั้นได้
- อมูฬหวินัย ผู้หายจากเป็นบ้า การเลิกความผิดเพราะผู้กระทำผิดนั้นวิกลจริตหรือเป็นบ้า
- ปฏิญญาตกรณะ ทำตามที่รับ การตัดสินตามการยอมรับผิด คำสารภาพของผู้กระทำผิด
- ตัสสปาปิยสิกา ลงโทษแก่ผู้ผิดที่ไม่รับ การลงโทษพยานผู้ที่ไม่ยอมพูดในการสอบสวนของคณะสงฆ์
- เยภุยยสิกา การตัดสินตามมติเสียงข้างมาก
- ติณวัตถารกะ ดุจกลบไว้ด้วยหญ้า วิธีประนีประนอม การตัดสินยกฟ้อง เลิกแล้วต่อกัน(ในกรณีทะเลาะกัน)
วัตถุประสงค์หลักของศีลคือ เครื่องมือที่มีไว้สำหรับการตรวจสอบตนเองและสามารถให้หมู่ช่วยกันตรวจสอบซึ่งกันและกันว่าการกระทำนั้นๆถูกต้องตามธรรมด้วย การมีไว้เพื่อการไม่เพ่งโทษ และไม่เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างผู้อื่น
ตอบคำถาม : คุณสิ่งทั้งปวง ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น
คำถาม 2: การที่เราเจ็บป่วยแต่ไม่ยอมไปหาหมอ ไม่ไปตรวจ จะเป็นการเบียดเบียนตนเอง และเบียดเบียนผู้อื่น หรือจะต้องไปหาหมอ ถ้าเกิดตรวจพบโรครักษาไม่หาย เช่น มะเร็ง ให้เราตั้งจิตว่า อยู่ก็เอาจะตายก็เอา ใครเกิดมาไม่ตาย นั่นไม่มี และความอยากไปตามกามคุณ 5 จะลดลงใช่หรือไม่
คำตอบ 2: พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า บุคคลที่ทำให้ตนเองเดือดร้อน คือ บุคคลที่หาทุกข์มาทับถมตนเองซึ่งไม่มีความทุกข์ทั้งทางกายและใจดังนี้
- ทางกาย กล่าวคือการเบียดเบียนตนเองด้วยทิฏฐิความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เช่น การทรมานตนเองด้วยวิธีทุกรกิริยารูปแบบต่างๆ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ไปสวรรค์ได้ เป็นต้น
- ทางใจ กล่าวคือการดำเนินชีวิตบนมิจฉามรรคหรือทรงไว้ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหมด เช่น มีความโกรธ เกลียด อาฆาตในบุคคลอื่น
แต่ในกรณีของการเจ็บป่วย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองเพราะเราไม่ได้เป็นผู้หาทุกข์มาทับถมตนเอง จึงไม่ถือว่าเป็นการเบียดเบียนตนเองอีกด้วย ในบางกรณีหากมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้วเราอดทนต่ออาการเจ็บป่วยนั้นๆ ก็ยังถือว่าความอดทนนั้นในทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นกุศลธรรมอีกด้วย เพราะสามารถประดิษฐานตนเองให้อยู่ดีและหากให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีกก็คือ สามารถประดิษฐานให้ผู้อื่นอยู่ในกุศลธรรมอีกด้วย
การตั้งจิตว่า “อยู่ก็เอาจะตายก็เอา ใครเกิดมาไม่ตาย นั่นไม่มี” จะทำให้ความอยากไปตามกามคุณ 5 ลดลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อพิจารณาเห็นตามที่เป็นจริง เช่น การพิจารณามรณสติ จะทำให้เราเกิดความหน่าย คลายกำหนัดจากกาม เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ ปล่อยวางและหลุดพ้นได้ในที่สุด
ทั้งนี้การไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นอย่างยั่งยืน ควรจะพิจารณาจากเจตนาที่เราตั้งเอาไว้ ให้อยู่ตามมรรค เวทนาที่เกิดขึ้น ระลึกถึงกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งด้วยเช่นกัน สามารถประดิษฐานผู้อื่นให้อยู่ในความดีได้ โดยการแนะนำให้ผู้อื่นสามารถรักษาตนเองด้วยการดำเนินชีวิตตามหลักอริยสัจสี่ เพื่อกำจัดตัณหา อุปาทาน และความยึดถือในจิตที่ทำให้ทุกข์มาจนทุกวันนี้
ตอบคำถาม : คุณจักรกฤษณ์