ฝึกปฏิบัติด้วยลักษณะม้าอาชาไนย 10 ประการ |
- ลักษณะม้าอาชาไนย 10 ประการ เปรียบเทียบกับการฝึกปฏิบัติของเหล่าอริยสาวกในธรรมะวินัยนี้
- ก่อนการฝึกม้าจะต้องรู้จักการรับสวมบังเหียน (ศีล) และเทียมแอก (ศรัทธา) ก่อน จึงจะสามารถพัฒนาในเรื่องของการอยู่หลีกเร้น การสำรวมอินทรีย์ การทำฌานสมาธิปัญญาในขั้นต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้
- เหมือนม้าที่ฝึกอยู่แต่ก็อาจจะทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง คนฝึกม้าก็จะต้องฝึกซ้ำ ๆ ซาก ๆ ฝึกอยู่เนื่อง ๆ เข้าจนความพยศนั้นก็หมดไป ก็เป็นยอดม้าได้ จิตใจของเราที่ฝึกด้วยธรรมะอย่างนี้แล้ว ก็เป็นยอดของสาวก ยอดของผู้ที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ควรแก่การบูชา ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก
“ภัททาลิ ! เมื่อใด ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีตัวนั้น ถูกฝึกเนือง ๆ และถูกฝึก ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เข้า จนหมดพยศในข้อที่ไม่รับแอกนั้นแล้ว, เมื่อนั้น คนฝึกม้า จึงทำการฝึกม้าตัวนั้นให้ยิ่งขึ้นไป...”
จากในบางส่วนของ ภัททาลิสูตร [174] ธรรม 10 ประการ (อ่านเพิ่มเติมในส่วนพระสูตร/เรื่องที่เกี่ยวข้อง)พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระภัททาลิในเรื่องของการปฏิบัติ โดยยกอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบกับม้าอาชาไนยพันธ์ุดีที่ผู้ฝึกม้าเขาจะทำการฝึกม้าในด้านต่าง ๆ ทั้งหมด 10 ด้านด้วยกัน เปรียบเทียบกับการฝึกปฏิบัติของเหล่าอริยสาวกในธรรมะวินัยนี้จะต้องมีการฝึกในด้านทั้ง 10 อย่าง คือ เรื่องของอริยมรรคมีองค์ 8 บวกกับ สัมมาญาณะ และ สัมมาวิมุตติ ซึ่ง 10 อย่างนี้รวมเรียกว่า “สัมมัตตะ 10 ประการ” ที่บอกว่า มรรค 8 เป็นที่รวมลงทั้งหมดของธรรมะ ถ้าเราจะเพิ่มไปอีก 2 อย่าง สำหรับคนที่บรรลุถึงที่สุดทางของมรรค 8 แล้ว ก็จะมีสัมมาญาณะด้วย มีสัมมาวิมุตติด้วย
บุคคลที่มีสัมมัตตะ 10 ประการ เรียกว่าเป็นเป็นสุดยอดแล้วของเหล่าสาวกในธรรมะวินัยนี้ เปรียบเทียบกันกับม้าอาชาไนยพันธุ์ดีที่ถ้าผ่านการฝึก 10 อย่างนี้ถือว่าเป็นยอดม้า เป็นเหมือนกับองค์อวัยวะของพระราชา เป็น เป็นของคู่บารมีของพระราชา
ก่อนที่จะทำการฝึกม้าจะต้องรู้จักเลือกพันธุ์ม้า ไปจับมาแล้วมารู้จักฝึกให้สวมบังเหียนและการเทียมแอก แน่นอนว่าม้ามันก็จะมีความพยศ เสพติดดิ้นรน มีวิสัยที่ไม่คุ้นเคยเกิดความรำคาญ แต่ถ้าม้าถูกฝึกไปเรื่อย ๆ ก็จะคุ้นชินขึ้นมาก็จะสามารถรับสวมบังเหียนและเทียมแอกได้ เปรียบเทียบมาในทางการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบพระองค์หรือคำสอนของพระองค์เป็นคนฝึกช้างคนฝึกม้า เหล่าสาวกทั้งหลายเปรียบเป็นเหมือนกับช้างพันธุ์ดี คือ ช้างตระกูลฉัททันต์ หรือเป็นม้าพันธุ์ดี คือ ม้าอาชาไนยม้าตะกูลวลาหก ที่มีพันธุ์ดีแล้วก็ต้องมาผ่านการฝึกถึงจะออกมาเป็นสุดยอดในการที่จะมาเป็นของที่เหมาะสมคู่ควร ควรได้รับการยกย่องบูชา
เพราะฉะนั้นในการรับสวมบังเหียน จะเปรียบได้กับในเรื่องของ “ศีล” ว่า เราจะต้องรู้จักอยู่ในศีลก่อน และการเทียมแอกนั้นก็คือ “ศรัทธา” ปลูกศรัทธา ฝึกทำในเรื่องของศีล มีศรัทธาและมีศีลแล้วสามารถพัฒนาในเรื่องของการอยู่หลีกเร้น การสำรวมอินทรีย์ การทำฌานสมาธิปัญญาในขั้นต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้
รายละเอียดข้อการฝึกม้าในแต่ละข้อเปรียบเทียบกับการฝึกปฏิบัติ
- ในการแยกขากระโดดแผล็วขึ้นพร้อมกันทั้งสี่ขา, ...ในการรบจะมีกับดักของม้าเอาไว้ค่อยกำจัดม้าเวลาที่รบกัน คือ จะมีการขุดหลุมเป็นกับดักไว้ แล้วให้คนลงไปหลบอยู่แล้วจะคอยที่โผล่ขึ้นมาใช้มีดตัดขาม้า มีกับดักติดๆ กัน 4 หลุม เพื่อที่จะโผล่ขึ้นมาตัดขาม้าทั้ง 4 ขา พร้อม ๆ กัน ซึ่งม้านั้นจะต้องรู้จักหลบกับดักนี้โดยการกระโดดแผล็วขึ้นพร้อมกัน 4 ขา แยกขาออกด้วย แล้วก็ใช้ขานั้นถีบคนทั้ง 4 คนนี้หงายกลิ้งไป ทำให้มันหลุดจากกับดักนี้ได้
เปรียบเทียบกับ การที่เรารู้จักกับดักของมาร ต้องรู้จักนำออกสิ่งที่เป็นอกุศลธรรมได้
- ในการเอี้ยวตะแคงตัวเป็นวงกลมจนผู้ขี่หยิบอาวุธที่ตกลงดินได้, มีทักษะ พลิกแพลงจนชำนาญ
เปรียบเทียบกับ การที่เรารู้จักทำธรรมะในหมวดต่าง ๆ (ถ้าเป็นการทำงานก็ทำอันนี้ก็ได้ ทำอันนั้นก็ได้) เช่น กายคตาสติก็ทำได้ พุทธานุสสติก็ได้ โพชฌงค์ก็ได้ สมาธิก็ได้
- ในการสามารถวิ่งจดแต่ปลายกีบจนไม่เกิดเสียง, บางภารกิจก็ต้องการความนิ่มนวล ไม่ให้มีเสียง
เปรียบเทียบกับ การทำงานของเรา ไม่ได้ต้องการที่จะเอาชื่อเสียง ไม่ได้ว่าจะต้องมาเป็นตัวตน ต้องรู้จักฉัน ฉันทำหน้าที่นี้ งานการนี้ฉันทำ ทำเบาๆ ไม่ได้จะประกาศชื่อเสียงของตน
- ในความเร็วทั้งทีหนีทีไล่
เปรียบเทียบกับ การฉับฉวยได้เร็วในกุศลธรรมทั้งหลาย เห็นสิ่งที่ไม่ดีก็จับฉวยได้เร็วในกุศลธรรมได้ สิ่งที่ดีๆ คนอื่นเขาทำดีเราก็จับฉวยได้เร็วให้เกิดกุศลขึ้น
- ในการไม่กลัวเสียงอึกทึกทุกชนิด
เปรียบเทียบกับ เรื่องของความอดทน อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย อดทนต่อผัสสะ เหลือบยุ่งลมแดดที่ไม่น่าพอใจ ถ้อยคำอันหยาบคายร้ายกาจ เราก็อดทนได้
- ในการรู้คุณค่าของพระราชา
เปรียบเทียบกับ การที่รู้อัธยาศรัยของพระศาสดา รู้อัธยาศรัยของผู้นำ ในหมู่สาวกด้วยกัน รู้ว่าสิ่งนี้ควรทำกับคนนี้ คนนี้ชอบสิ่งนี้ไม่ชอบสิ่งนี้อย่างไร เป็นการรู้อัศยาศรัยของคนอื่น อันนี้ดี
- ในการทำตัวให้สมกับเป็นวงศ์พระยาม้า, แม้ถูกรุมด้วยอาวุธ ถูกประหารด้วยหอกด้วยหลาวก็ไม่ทำผู้ขี่ให้ตก สามารถนำออกจากภัยนั้นได้
เปรียบเทียบกับ การที่ไม่ย่อมทำชั่ว แม้เหตุแห่งชีวิต จะถูกกดดัน ถูกบังคับอย่างไรก็ไม่ทำชั่ว จะทำแต่ความดี
- ในความเร็วเลิศ
เปรียบเทียบกับ การที่จะต้องรู้อริยสัจ 4
- ในความเป็นยอดม้า, ไม่อุจจาระปัสสาวะในที่นั่งที่นอนของตน กินอาหารดี ๆ ไม่ย่อมม้าอื่น
เปรียบเทียบกับ สาวกที่ฝึกดีแล้วในความเป็นยอด ด็คือ ไม่ทำอกุศล จะเป็นผุูที่ทำแต่กุศลธรรมที่มันดียิ่งขึ้น ๆ รับภาระ คนอื่นจะทำหรือไม่ทำไม่สนใจฉันจะทำ ฉันจะศึกษาทำความเข้าใจปฏิบัติให้มันได้
- ในความควรแก่การฟังแต่คำที่นิ่มนวล, เช่น ในเรื่องของโคนันทิวิสาล ที่เจ้าของโคสั่งโดยพูดจาไม่ดีด้วยคำหยาบคาย โคนั้นก็ไม่ทำงานให้ตามที่สั่ง ทำให้เกิดความเสียหาย แต่พอแก้ไขปรับปรุงตัวให้พูดดี ๆ กันแล้ว โคนั้นก็ทำตามที่สั่ง
เปรียบเทียบกับ สาวกในธรรมวินัยนี้ ก็คือ การที่เราพูดดี ๆ กัน ไม่ต้องพูดใช้คำหยาบหรือว่าใช้อาชญาในการพูดคาดโทษเอาไว้ แต่พูดกันดี ๆ ทำความเข้าใจ ก็สามารถที่จะทำการงานที่ปฏิบัตินั้นให้ดำเนินก้าวหน้าไปได้
“ทั้ง 10 ข้อนี้ เปรียบเทียบกลับมาในทางปฏิบัติของเราแล้ว แน่นอนว่าในขณะที่เรากำลังฝึกอยู่มันจะต้องมีความพยศ ความเสพติดดิ้นรนต่าง ๆ เกิดขึ้นมาแน่ เหมือนม้านี่แหละ ที่ฝึกอยู่ก็อาจจะทำไม่ได้บ้าง คนฝึกม้าก็จะต้องฝึกซ้ำ ๆ ซาก ๆ เข้า ฝึกเนื่อง ๆ เข้า มันก็แก้ได้ ความพยศนั้นก็หมดไป ก็เป็นยอดม้าได้จิตใจของเราที่ฝึกด้วยธรรมะอย่างนี้แล้ว ก็เป็นยอดของสาวก ยอดของผู้ที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ควรแก่การบูชา ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก”
พระสูตร / เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- อ่าน "ภัททาลิสูตร [174] ธรรม 10 ประการ" เล่มที่ 13 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 5 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
- ฟัง "บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ ๔ จำพวก" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559
- ฟัง "ตอบคำถาม-สัมมัตตะ ๑๐ ระบบแห่งความเห็นที่ถูกต้อง" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558
- ฟัง "อุปมาฝึกม้าชั้นเลิศด้วยการฝึกของผู้ฝึกชั้นเลิศ" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557