น อัตตาในสิ่งที่เป็น อนัตตา ให้ได้ |
HIGHLIGHTS:
- สิ่งที่เวียนว่ายตายเกิด ชาติที่แล้วเป็นสิ่งหนึ่งแต่ชาตินี้เกิดเป็นอีกสิ่งหนึ่ง คืออะไร เกี่ยวข้องกับอนัตตาอย่างไร
- การนั่งสมาธิเราควรขบคิดพิจารณาธรรมหรือไม่
บทคัดย่อ
คำถาม 1: ผู้ถามมีความสงสัยว่า ในขันธ์ห้าไม่มีเรา เป็นธรรมชาติล้วนๆ แม้แต่วิญญาณที่เป็นตัวรู้ก็ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีคนหรือสัตว์ แล้วสิ่งที่เวียนว่ายตายเกิด ชาติที่แล้วเป็นสิ่งหนึ่งแต่ชาตินี้เกิดเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มันคืออะไร รู้สึกเหมือนต้องมีตัวอะไรสักอย่างที่มีการบ่งชี้ (Identity) หรือมีความคงอยู่ (Existence) ถึงจะระบุได้ว่าคนๆนี้ตายแล้วไปเกิดเป็นคนนี้คนนั้น เมื่อฟังคู่กับเรื่องความไม่มีตัวตนแล้วยังงงๆอยู่
คำตอบ 1: อนัตตา เป็นคุณสมบัติของการไม่ใช่ ไม่มี และไม่เป็นตัวตน มีปรากฏอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง
- ซึ่งคุณสมบัตินั้นไม่ได้เป็นตัวของมันเองหรือไม่ได้เป็นเอกเทศ แต่บ่งบอกถึงการขึ้นกับสิ่งอื่นเพื่อให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น มีความมีอยู่หรือคงอยู่แค่ช่วงเวลาที่เหตุปัจจัยนั้นมีอยู่
- มีความไม่เที่ยง เพราะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย
- เป็น “ทุกข์” คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก
- มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จึงไม่ควรที่เราจะเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นตัวเรา ของเรา หรือมีอยู่ในเรา
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเกี่ยวกับอุปาทานหรือความยึดถือจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “สิ่งใดมีภาวะเป็นที่รัก มีภาวะเป็นที่น่ายินดี ตัณหาเมื่อจะเกิดย่อมเกิดในสิ่งนั้น เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมเข้าไปตั้งอยู่ในสิ่งนั้น” ไม่เว้นแม้แต่สิ่งของภายนอก ยังคืบคลานแผ่ซ่านไปถึงภายใน ไม่ว่าจะเป็นจิต มโน วิญญาณ ความคิดดี เลว อดีต ปัจจุบัน อนาคต นรก สวรรค์ พรหมโลก ทำให้ความรู้สึกที่เป็นตัวเรา ของเราเกิดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ หากมีเชื้อให้มันเกาะยึด รู้สึกเหมือนการเวียนว่ายตายเกิด อีกทั้งรอยต่อของการยึดถือก็ถูกปิดบังด้วยอวิชชา เราจะมึนงงเพราะถูกกลุ้มรุมห่อหุ้มด้วยตัณหาและอวิชชา
เราต้องนอัตตาในสิ่งที่เป็นอนัตตานั้นให้ได้ โดยไม่ยึดถือจะได้ไม่ทุกข์ ให้วางจิตเป็นธรรมดา ทำแต่ความดีและสิ่งที่เป็นกุศลโดยปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด และตั้งสติเพื่อเห็นจุดเชื่อมต่อ มีสมาธิและปัญญาเพื่อละหรือตัดความยึดถือเหล่านั้น เพื่อให้เกิดความพ้นหรือวิมุตติขึ้น อีกทั้งให้มีความศรัทธา มั่นใจ ลงใจในพุทโธ ธัมโม สังโฆ และรีบลงมือปฏิบัติทันที
“นั่นไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม), นั่นไม่ใช่เรา (เนโสหมสฺมิ), นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโส อตฺตา)”
คำถาม 2: การนั่งสมาธิเราควรขบคิดพิจารณาธรรมหรือไม่ หรือควรเน้นไปที่ความสงบ อยู่กับลม เมื่อจิตสงบเมื่อไรก็จะพิจารณาธรรมได้เองโดยอัตโนมัติ
คำตอบ 2: พระอานนท์เคยตรัสไว้ว่า เราสามารถเอาสมถะนำวิปัสสนา หรือวิปัสสนานำสมถะก็ได้ หรือจะเคียงคู่กันไปให้เป็นส่วนผสมอันเดียวกัน เพื่อให้เกิดการตัดอุปาทานลงได้ด้วยสมาธิและปัญญา ซึ่งปฏิปทาแบ่งเป็น 2 แบบดังนี้
- หากผู้ใดมีราคะ โทสะ โมหะแรงกล้า เมื่อมีสิ่งใดมากระทบจะมีอารมณ์ขึ้นลงง่าย การจะทำให้จิตสงบจะต้องให้พิจารณาขบคิดในความไม่สวยงาม ความไม่เที่ยง ความทุกข์ เพื่อให้จิตเข้าสู่สมาธิและปล่อยวาง
- หากผู้ใดมีราคะ โทสะ โมหะเบาบาง เมื่อมีสิ่งใดมากระทบจะมีอารมณ์คงที่ มีแนวโน้มว่าจิตจะสงบได้ง่าย ดังนั้นเมื่อนั่งสมาธิให้ทำจิตให้สงบได้เลย แต่หากจิตสงบมากเกินไปก็ให้น้อมไปในการพิจารณา
ตอบคำถาม : คุณบัว
พระสูตร / เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ฟัง "อนัตตา ต่างจาก น อัตตา" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
- ฟัง "นอัตตาในสิ่งที่เป็นอนัตตาอย่างแท้จริง" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560