สากัจฉาธรรม - จับมรรค แจ้งนิโรธ |
- การทำบุญในวันธรรมดาหรือในวันสำคัญทางศาสนา ได้บุญมากกว่ากัน
- “แข่งอะไรแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนากันแข่งไม่ได้” จริงหรือไม่ อย่างไร
- กิจที่ควรทำในอริยสัจสี่ มีรายละเอียดอย่างไร
บทคัดย่อ
คำถาม ๑: เวลาจะทำบุญจะชอบไปทำวันธรรมดา โดยคิดว่าวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันวิสาขาบูชา มาฆะบูชา หรือเข้าพรรษา เป็นต้น จะคิดว่าคนไปทำมากแล้ว พระฉันท์ไม่หมดแน่หรือของที่เขาถวายกัน คงมากจนเกินไปแล้ว หากคิดอย่างนี้ผิดหรือไม่ เพราะเขาว่าวันสำคัญทางศาสนาบุญจะมากกว่า อันนี้จริงหรือไม่
คำตอบ ๑: แบ่งเป็น ๒ ประเด็นคือ
- การตั้งจิตแบบลบหลู่คุณท่าน หรือ การคิดแบบตรรกะ มีเหตุผลที่ถูกต้อง
- ปัจจัยที่ทำให้ทานที่ให้ เกิดผลบุญมาก กล่าวคือผู้ให้มีศรัทธาและเจตนามากหรือน้อยในช่วงก่อนให้ ระหว่างให้ และหลังให้ทาน ในส่วนของผู้รับนั้นมีราคะ โทสะ โมหะมากหรือน้อยในช่วงก่อนให้ ระหว่างให้ และหลังให้ทานเช่นกัน
คำถาม ๒: กราบเรียนถามพระอาจารย์ ที่เคยได้ยินว่า “แข่งอะไรแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนากันแข่งไม่ได้” ตามหลักทางพุทธศาสนานั้น พอจะมีส่วนจริงหรือไม่ และวิธีการสะสมบารมีตามคำสอนพระพุทธเจ้าว่าควรทำอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นหนทางในการให้มีบารมีที่สูงขึ้นและนำไปสู่การหลุดพ้นได้
คำตอบ ๒: บุญเป็นชื่อของความสุขเมื่อทำแล้วใจจะเบาสบาย เพราะการทำบุญเป็นการสละออก คลายความตระหนี่ ทำให้อกุศลธรรมออกไปจากใจของเรานั่นเอง เมื่อสละออกแล้วอย่าไปยึดถือในบุญวาสนานั้นๆจนกลายเป็นมานะ เราควรจะสั่งสมบุญ แต่อย่าเมาบุญ
อย่างไรก็ตามการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา สามารถสั่งสมจนเป็นอาสวะที่เป็นส่วนแห่งบุญและลอกกิเลสออกได้ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นไปเพื่อคลายความยึดถือ รื้อถอนตัวตนให้หลุดออกจากทุกข์ ธรรมะต่างๆมีไว้เป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ยึดถือและละได้ในที่สุด
ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ได้ทรงตรัสเกี่ยวกับบุญโดยใช้หลัก บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ซึ่งสอดคล้องกับกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยแบ่งเป็นกาย ๓ (คือการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) วาจา ๓ (คือการไม่พูดโกหก ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด และไม่พูดจาหยาบคาย) และใจ ๔ (คือการมีสัมมาทิฐิ การมีเมตตา ไม่พยาบาท และการไม่คิดเพ็งเล็งในของผู้อื่น)
คำว่า “วาสนา” เป็นคำในภาษาบาลี แปลว่า นิสัย หมายถึง บุญหรือบาปที่ได้อบรมมา ส่วนคำว่า “บารมี” หมายถึง บุญหรือความดีที่เคยสั่งสม ทับถมกันมา เป็นเครื่องมือที่ใช้ข้ามวัฏสงสารซึ่งเราทุกคนต้องรีบทำเพื่อสั่งสมด้วยความเพียร
คำถาม ๓: กราบเรียนถามพระอาจารย์ เกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องอริยสัจสี่ ในส่วนข้อนิโรธคือ ผู้ถามจะท่องพร้อมแปลทุกเช้าในห้องพระที่บ้านว่า ทุกข์ คือ การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย การพลัดพราก การประสบสิ่งที่ไม่พอใจ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น และการยึดขันธ์ห้า เหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหา มีกามตัณหา ภวะตัณหา วิภวะตัณหา มรรค แต่นิโรธนี้มีให้จับเป็นหลักแบบใดบ้าง
คำตอบ ๓: หากเราจับหลักการตามอริยมรรคมีองค์แปดแล้ว ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปดแล้ว เราจะสามารถรู้ได้ว่ากิจที่ควรทำในแต่ละข้อของอริยสัจสี่คือ
- ทุกข์ สิ่งที่ควรทำคือ ควรกำหนดรู้
- สมุทัย สิ่งที่ควรทำคือ ต้องละ
- นิโรธ สิ่งที่ควรทำคือ ต้องทำให้แจ้ง
- มรรค สิ่งที่ควรทำคือ ต้องทำให้เจริญ ทำให้มี โดยการภาวนามิใช่การร้องขอ
ตอบคำถาม: คุณป๊อบ เค ทู
พระสูตร / เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ฟัง "คำพุทธ-ทักษิณาวิภังภสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยการให้ทาน" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
- ฟัง "ให้ทานอย่างไร ให้มีอานิสงส์มาก" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
- ฟัง "พรหมายุสูตร ว่าด้วย พรหมายุพราหมณ์ต้องการเฝ้าพระพุทธเจ้า" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐
- ฟัง "อธิบาย พรหมายุสูตร ว่าด้วย พรหมายุพราหมณ์ต้องการเฝ้าพระพุทธเจ้า" ออกอากาศทาง FM92.5 เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐
- ชม "กิจที่ควรทำในอริยสัจ" เผยแพร่ทาง YouTube Channel เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐